วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

มวยไทย

ประวัติมวยไทย


มวยไทยกับคนไทย
      จากการจำแนกเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ คนไทยมีเชื้อชาติอยู่ในกลุ่มมองโกเลีย ลักษณะร่างกายโดยทั่วไปตัวเล็กกว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตหนาว ความสูงโดยเฉลี่ย 5 ฟุต 3 นิ้ว ร่างกายล่ำสัน สมส่วน ทะมัดทะแมง น้ำหนักตัวน้อย มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นสูง มือมีเนื้อนุ่มนิ่ม ผิวสีน้าตาลอ่อน ผมดกดำ ขนตามตัวมีน้อย เคราไม่ดกหนา รูปศีรษะเป็นสัดส่วนดี ลูกตาสีดำตาขาวมีสีเหลืองเล็กน้อย กระพุ้งแก้มอวบอูม ใบหน้ากลม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นเมืองร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ใช้เรือเป็นพาหนะ จึงทำให้คนไทยสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้น ไม่สวมหมวกและรองเท้า สามารถใช้อวัยวะหมัด เท้า เข่า ศอก ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว จึงนำไปผสมผสานกับการใช้อาวุธมีด ดาบ หอก เพื่อป้องกันตนเองและป้องกันประเทศ
....มวยไทยนั้นมีมาพร้อมกับคนไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยมาช้านาน ในสมัยโบราณประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ จึงมีการสู้รบกันอยู่เสมอๆ ดังนั้นชายไทยจึงนิยมฝึกมวยไทยควบคู่กับการฝึกอาวุธ ต่อมาได้วิวัฒนาการจนกลายเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น มีลีลาการเคลื่อนไหวที่สวยงามแฝงไว้ด้วยความแข็งแกร่งดุดัน สามารถฝึกเพื่อป้องกันตนเอง เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย และเพื่อเป็นอาชีพได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
2. มวยไทยในสมัยกรุงสุโขทัย
....สมัยกรุงสุโขทัยเริ่มประมาณ พ.ศ.1781 - 1951 รวมระยะเวลา 140 ปี หลักฐานจากศิลาจารึกกล่าวไว้ชัดเจนว่า กรุงสุโขทัยทำสงครามกับประเทศอื่นรอบด้าน จึงมีการฝึกทหารให้มีความรู้ความชำนาญในรบด้วยอาวุธ ดาบ หอก โล่ห์ รวมไปถึงการใช้อวัยวะของร่างกายเข้าช่วยในการรบระยะประชิดตัวด้วย เช่น ถีบ เตะ เข่า ศอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรบ
....หลังเสร็จสงครามแล้ว ชายหนุ่มในสมัยกรุงสุโขทัยมักจะฝึกมวยไทยกันทุกคนเพื่อเสริมลักษณะชายชาตรี เพื่อศิลปะป้องกันตัว เพื่อเตรียมเข้ารับราชการทหารและถือเป็นประเพณีอันดีงาม ในสมัยนั้นจะฝึกมวยไทยตามสำนักที่มีชื่อเสียง เช่น สำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี นอกจากนี้ยังมีการฝึกมวยไทยตามลานวัดโดยพระภิกษุอีกด้วย วิธีฝึกหัดมวยไทยในสมัยกรุงสุโขทัย ครูมวยจะใช้กลอุบายให้ศิษย์ ตักน้ำ ตำข้าว ผ่าฟืน ว่ายน้ำ ห้อยโหนเถาวัลย์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและอดทนก่อนจึงเริ่มฝึกทักษะ โดยการผูกผ้าขาวม้าเป็นปมใหญ่ๆไว้กับกิ่งไม้ แล้วชกให้ถูกด้วยหมัด เท้า เข่า ศอก นอกจากนี้ยังมีการฝึกเตะกับต้นกล้วย ชกกับคู่ซ้อม ปล้ำกับคู่ซ้อม จบลงด้วยการว่ายน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายและผ่อนคลายกล้ามเนื้อก่อนนอน ครูมวยจะอบรมศีลธรรมจรรยา ทบทวนทักษะมวยไทยท่าต่างๆ จากการฝึกในวันนั้นผนวกกับทักษะท่าต่างๆ ที่ฝึกก่อนหน้านี้แล้ว
....สมัยกรุงสุโขทัยมวยไทยถือว่าเป็นศาสตร์ชั้นสูงถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของกษัตริย์ เพื่อฝึกให้เป็นนักรบที่มีความกล้าหาญ มีสมรรถภาพร่างกายดีเยี่ยม เป็นกษัตริย์ที่เก่งกล้าสามารถในการปกครองประเทศต่อไป ดังความปรากฏตามพงศาวดารว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์กษัตริย์กรุงสุโขทัยพระองค์แรกทรงเห็นการณ์ไกลส่งเจ้าชายร่วงองค์ที่ 2 อายุ 13 พรรษา ไปฝึกมวยไทยที่ สำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี เพื่อฝึกให้เป็นกษัตริย์ที่เก่งกล้าในอนาคต และในปี พ.ศ. 1818 - 1860 พ่อขุนรามคำแหงได้เขียนตำหรับพิชัยสงคราม ข้อความบางตอนกล่าวถึงมวยไทยด้วย นอกจากนี้พระเจ้าลิไท เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาจากสำนักราชบัณฑิตในพระราชวังมีความรู้แตกฉานจนได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ ซึ่งสำนักราชบัณฑิตมิได้สอนวิชาการเพียงอย่างเดียว พระองค์ต้องฝึกภาคปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าแบบมวยไทย และการใช้อาวุธ คือ ดาบ หอก มีด โล่ห์ธนู เป็นต้น


มวยไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา
    สมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มประมาณ พ.ศ.1988 - 2310 ระยะเวลา 417 ปี บางสมัยก็มีศึกกับประเทศใกล้เคียง เช่น พม่า และเขมร ดังนั้นชายหนุ่มสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงต้องฝึกฝนความชำนาญในกานต่อสู้ด้วยอาวุธและศิลปะป้องกันตัวด้วยมือเปล่า โดยมีครูผู้เชี่ยวชาญทางการต่อสู้เป็นผู้สอน การฝึกเริ่มจากในวังไปสู่ประชาชน สำนักดาบพุทธไทสวรรค์เป็นสำนักดาบที่มีชื่อเสียงสมัยอยุธยา มีผู้นิยมไปเรียนมาก ซึ่งในการฝึกจะใช้อาวุธจำลอง คือดาบหวายเรียกว่า กระบี่กระบอง นอกจากนี้ยังต้องฝึกการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่า เรียกว่า มวยไทย ควบคู่กันไปด้วย ในสมัยนี้วัดยังคงเป็นสถานที่ให้ความรู้ทั้งวิชาสามัญและวิชาปฏิบัติในเชิงอาวุธควบคู่กับมวยไทยอีกด้วย
• สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2133 - 2147)
    พระองค์ทรงเลือกคนหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับพระองค์มาทรงฝึกหัดด้วยพระองค์เอง โดยฝึกให้มีความกล้าหาญ มีความเชื่อมั่นตนเอง ใช้อาวุธได้ทุกชนิดอย่างชำนาญ มีความสามารถในศิลปะการต่อสู้มวยไทยดีเยี่ยม และพระองค์ทรงตั้ง กองเสือป่าแมวมอง เป็นหน่วยรบแบบกองโจร ซึ่งทหารกองนี้เองมีบทบาทมากในการกอบกู้เอกราชจากพม่าในปี พ.ศ.2127
• สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2147 - 2233)
      สภาพบ้านเมืองสงบร่มเย็น มีความเจริญรุ่งเรืองมาก พระองค์ทรงให้การส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมวยไทยนั้นนิยมกันมากจนกลายเป็นกีฬาอาชีพ มีค่ายมวยเกิดขึ้นมากมาย มวยไทยสมัยนี้ชกกันบนลานดิน โดยใช้เชือกเส้นเดียวกั้นบริเวณเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส นักมวยจะใช้ด้ายดิบชุบแป้งหรือน้ำมันดินจนแข็งพันมือ เรียกว่า คาดเชือก หรือ มวยคาดเชือก นิยมสวมมงคลไว้ที่ศีรษะ และผูกประเจียดไว้ที่ต้นแขนตลอดการแข่งขัน การเปรียบคู่ชกด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ไม่คำนึงถึงขนาดร่างกายลาอายุ กติกาการชกง่ายๆ คือ ชกจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยอมแพ้ ในงานเทศกาลต่างๆ ต้องมีการจัดแข่งขันมวยไทยด้วยเสมอ มีการพนันกันระหว่างนักมวยที่เก่งจากหมู่บ้านหนึ่งกับนักมวยที่เก่งจากอีกหมู่บ้านหนึ่ง
• สมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ.2240 - 2252)
     สมัยพระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสุรศักดิ์ พระองค์ทรงโปรดการชกมวยไทยมาก ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จไปที่ตำบลหาดกรวด พร้อมด้วยมหาดเล็กอีก 4 คน แต่งกายแบบชาวบ้านไปเที่ยวงานแล้วเข้าร่วมการเปรียบคู่ชก นายสนามรู้เพียงว่าพระองค์เป็นนักมวยจากเมืองกรุงจึงจัดให้ชกกับนักมวยฝีมือดีจากสำนักมวยเมืองวิเศษไชยชาญ ซึ่งได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก ซึ่งพระองค์ชกชนะทั้งสามคนรวด นกจากนี้พระองค์ทรงฝึกฝนให้เจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสให้มีความสามารถในด้านมวยไทย กระบี่กระบองและมวยปล้ำอีกด้วย
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ....พระมหากษัตริย์ทรงโปรดให้มีกรมมวยหลวงขึ้นโดยให้คัดเลือกเอาชายฉกรรจ์ที่มีฝีมือในการชกมวยไทยเข้าต่อสู้กันหน้าพระที่นั่ง แล้วคัดเลือกผู้มีฝีมือเลิศไว้เป็นทหารสนิท และทหารรักษาพระองค์ เรียกว่า "ทหารเลือก" สังกัดกรมมวยหลวง มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย ภายในพระราชวังหรือตามเสด็จในงานต่างๆ ทั้งยังเป็นครูฝึกมวยไทยให้ทหารและพระราชโอรสอีกด้วย



สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
หลังจากพ่ายแพ้แก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ มีนักมวยมีชื่อเสียงสองคน ดังนี้
๑. นายขนมต้ม เป็นเชลยไทยที่ถูกกวาดต้อนไปครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก ครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๗ พระเจ้ากรุงอังวะ กษัตริย์พม่าโปรดให้จัดงานพิธีสมโภชมหาเจดีย์ใหญ่ ณ เมืองร่างกุ้ง ทรงตรัสให้หานักมวยไทยฝีมือดี มาเปรียบกับนักมวยพม่า แล้วให้ชกกันที่หน้าพระที่นั่ง ในวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๓๑๗ ซึ่งนายขนมต้มชกชนะนักมวยพม่าถึง ๑๐ คน โดยไม่มีการพักเลย การชกชนะครั้งนี้เป็นการเผยแพร่ศิลปะมวยไทยในต่างแดนเป็นครั้งแรก ดังนั้นนายขนมจึงเปรียบเสมือน "บิดามวยไทย" และวันที่ ๑๗ มีนาคม ถือว่า เป็นวันมวยไทย
๒.พระยาพิชัยดาบหัก (พ.ศ.๒๒๘๔ - ๒๓๒๕) เดิมชื่อจ้อย เป็นคนเมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีความรู้ความสามารถเชิงกีฬามวยไทยมาก ได้ฝึกมวยไทยจากสำนักครูเที่ยงและใช้วิชาความรู้ชกมวยไทยหาเลี้ยงตัวเองมาจนอายุได้ ๑๖ ปี แล้วจึงฝึกดาบ กายกรรม และมวยจีนจากคนจีน ด้วยฝีมือเป็นเลิศในเชิงมวยไทยและดาบ เป็นที่ปรากฏแก่สายตาของพระยาตาก จึงนำเข้าไปรับราชการได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิชัยอาสา หลังจากพระเจ้าตากสิ้นได้กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ก็ให้พระยาพิชัยไปครองเมืองพิชัยบ้านเมืองเดิมของตนเอง ในปี พ.ส.๒๓๑๔ พม่ายกทับมาตีเมืองเชียงใหม่แล้วเลยมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยนำทหารออกสู้รบ การรบถึงขั้นตะลุมบอน จนดาบหักทั้งสองข้าง จึงได้นามว่า พระยาพิชัยดาบหัก
สมัยกรุงธนบุรี
สมัยกรุงธนบุรีเริ่ม พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๒๔ ระยะเวลา ๑๔ ปี บ้านเมืองอยู่ระหว่างการฟื้นฟูประเทศ หลังจากการกู้อิสรภาพคืนมาได้ การฝึกมวยไทยสมัยนี้เพื่อการสงครามและการฝึกทหารอย่างแท้จริง
ในยุคนี้มีนักมวยฝีมือดีมากมาย เช่น นายเมฆบ้านท่าเสา นายเที่ยงบ้านเก่ง นายแห้วแขวงเมืองตาก นายนิลทุ่งยั้ง นายถึกศิษย์ครูนิล ส่วนนักมวยที่เป็นนายทหารเลือกของพระเจ้าตากสิน ได้แก่ หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี นายหมึก นายทองดี ฟันขาว หรือพระยาพิชัยดาบหัก การจัดชกมวยในสมัยกรุงธนบุรี นิยมจัดนักมวยต่างถิ่น หรือลูกศิษย์ต่างครูชกกัน กติกาการแข่งขันยังไม่ปรากฏชัดเจน ทราบเพียงแต่ว่าชกแบบไม่มีคะแนน จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้ไป สังเวียนเป็นลานดิน ส่วนมากเป็นบริเวณวัด นักมวยยังชกแบบคาดเชือกสวมมงคล และผูกประเจียดที่ต้นแขนขณะทำการแข่งขัน
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
กีฬามวยไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๔๑๑ ระยะเวลา ๘๖ ปี กีฬามวยไทยยังเป็นศิลปะประจำชาติ มีการจัดแข่งขันในงานเทศกาลประจำปี กติกาเริ่มมีการกำหนดเวลาการแข่งขันเป็นยก โดยใช้กะลามะพร้าวที่มีรูลอยน้ำถ้ากะลามะพร้าวจมถึงก้นอ่างก็จะตีกลองเป็นสัญญาณหมดยก การแข่งขันไม่กำหนดยก ชกกันจนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้
สมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ ๒๓๒๕- ๒๓๕๒)
พระองค์ทรงฝึกหัดมวยไทยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงสนพระทัยในการเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันชกมวยไทยอยู่เสมอ ในปี พ.ศ.๒๓๓๑ พ่อค้าชาวฝรั่งเศสสองพี่น้องเดินทางไปค้าขายทั่วโลกด้วยเรือกำบั่น คนน้องเป็นนักมวยฝีมือดี เที่ยวพนันชกมวยมาหลายเมืองเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครจึงได้ล่ามกราบเรียนพระยาพระคลัง ขอชกมวยพนันกับคนไทยพระยาพระคลังได้นำความขึ้นกราบทูลรัชกาลที่ ๑ พระองค์ทรงตรัสปรึกษากับกรมพระราชวังบวรพระอนุชา ซึ่งเป็นผู้มีฝีมือมวยไทย และคุมกรมมวยหลวงอยู่ในขณะนั้น รับตกลงพนันกันเป็นเงิน ๕๐ ชั่ง กรมพระราชวังบวรคัดเลือกทนายเลือกวังหน้าฝีมือดีชื่อ หมื่นผลาญต่อสู้กับนักมวยฝรั่งเศสครั้งนี้ สังเวียนการแข่งขันจัดสร้างขึ้นที่สนามหลังวัดพระแก้ว โดยใช้เชือกเส้นเดียวผูกกับเสา ๔ ต้น สูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ขึงกั้นบริเวณเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ ๒๐ เมตร ด้านหน้าปลูกพลับพลาที่ประทับ กติกาการแข่งขันไม่มีการให้คะแนน ชกกันจนกว่าจะแพ้ชนะกันโดยเด็ดขาด เมื่อใกล้เวลาชกทรงตรัสสั่งให้แต่งตัวหมื่นผลาญ ด้วยการชโลมน้ำมันว่านยาตามร่างกาย ผูกประเจียดเครื่องรางที่ต้นแขน แล้วให้ขี่คอคนมาส่งถึงสังเวียน



เมือการแข่งขันเริ่มขึ้น ฝรั่งได้เปรียบรูปร่าง เข้าประชิดตัว พยายามจะปล้ำเพื่อหักคอและไหปลาร้า หมื่นผลาญพยายามปิดป้อง ปัดเปิด สลับกับเตะถีบชิงต่อยแล้วถอยวนหนียิ่งชกนานฝรั่งยิ่งเสียเปรียบเรพาะทำอะไรไม่ได้ ฝรั่งพี่ชายเห็นว่าถ้าชกต่อไปน้องชายคงเสียเปรียบแน่จึงตัดสินใจกระโดดเข้าไปขวางกั้นไม่ให้หมื่นผลาญถอยหนี การกระทำเหมือนช่วยกัน จึงเกิดมวยหมู่ระหว่างพวกฝรั่งกับพวกทนายเลือก ฝรั่งบาดเจ็บหลายคน รัชกาลที่ 1 พระราชทานหมอยาหมอนวดไปรักษาพยาบาล เมื่อหายดีแล้วฝรั่งเศสสองพี่น้องก็ออกเรือกลับไป
• สมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ.2352 - 2367)
......เมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงฝึกมวยไทยจากสำนักวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) จากสมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่) ซึ่งเคยเป็นแม่ทับเก่า ครั้นเมื่อพระชนม์อายุ 16 พรรษา ได้เสด็จมาประทับในพระราชวังเดิมและทรงฝึกมวยไทยจากทนายเลือกเพิ่มเติมอีก อีกทั้งทรงโปรดใหญ่สร้างสนามมวยที่สนามหญ้าบริเวณวังหลัง และทรงเปลี่ยนคำว่า "รำหมัด รำมวย" มาเป็น "มวยไทย"
• สมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2367 -2394)
.......
พระองค์ทรงฝึกมวยไทยจากทนายเลือกในรัชกาลที่ 2 ในสมัยนี้ประชาชนตามหัวเมืองยังคงนิยมฝึกมวยไทยและกระบี่กระบองกันอยู่ ด้วยเหตุผลนี้เองท้าวสุรนารี หรือคุณหญิงโม ภรรยาเจ้าเมืองโคราช จึงสามารถคุมทับออกต่อสู้เอาชนะกองทัพของเจ้าอนุวงค์แห่งเมืองเวียงจันทร์ รักษาเมืองไว้ได้
• สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2394 - 2411)
......ในขณะที่ทรงพระเยาว์ ทรงแต่งองค์อย่างกุมารชกมวยไทย และเล่นกระบี่กระบองโชว์ในงานสมโภชหน้าพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในสมัยนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของอารยธรรมตะวันตกเริ่มแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย แต่มวยไทยยังคงเป็นกีฬาประจำชาติอยู่
• สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2411 - 2453)
......พระองค์ทรงฝึกมวยไทยจากสำนักมวยหลวง ซึ่งมีปรมาจารย์หลวงพลโยธานุโยค ครูมวยหลวงเป็นผู้ถวาย0การสอน ทำให้พระองค์โปรดกีฬามวยไทยมาก เสด็จทอดพระเนตรการชกมวยหน้าพระที่นั่ง ทรงโปรดให้ข้าหลวงหัวเมืองต่างๆ คัดนักมวยฝีมือดีมาชกกันหน้าพระที่นั่งเพื่อหานักมวยที่เก่งที่สุดเข้าเป็นทหารรักษาพระองค์ สังกัดกรมมวยหลวง
.....พระองค์ทรงเห็นคุณค่าของกีฬาประจำชาติ จึงตรัสให้มีการแข่งขันมวยไทยขึ้นทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความนิยมกีฬามวยไทยมากขึ้น นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มี "มวยหลวง" ตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ฝึกสอน จัดการแข่งขัน และควบคุมการแข่งขันมวยไทย เมื่อมีงานพระราชพิธีต่างๆ เช่น งานโสกันต์ งานพระเมรุหรืองานรับแขกเมือง สำนักพระราชวังจะออกหมายเรียกให้มวยหลวงนำคณะนักมวย คณะปี่กลองมาร่วมแสดงในงานด้วย ดังเช่นในงานศพของ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ซึ่งจัดขึ้นที่ท้องทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) ด้านป้อมเผด็จดัสกร ในงานนี้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีการจัดแข่งขันมวยไทยหน้าพระที่นั่ง มีนักมวยฝีมือดีจากต่างจังหวัดหลายคนชกชนะคู่ต่อสู้ได้รับพระราชทาน "หมื่น" ดังนี้
1. หมื่นมวยมีชื่อ คือ นายปล่อง จำนงทอง นักมวยฝีมือดีจากเมืองไชยา ผู้ชกด้วยท่าเสือลากหางเข้าจับทุ่มคู่ต่อสู้จนได้รับชัยชนะหลายครั้ง
2. หมื่นมวยแม่นหมัด คือ นายกลิ้ง ไม่ปรากฏนามสกุล นักมวยฝีมือดีจากเมืองลพบุรี ผู้มีลีลาการชกฉลาด รุกรับ หลบหลีกว่องไว ใช้หมัดตรงได้อย่างดียอดเยี่ยม
3. หมื่นชงัดเชิงชก คือ นายแดง ไทยประเสริฐ นักมวยฝีมือดีจากเมืองโคราช ผู้มีการเตะที่รุนแรง และมีหมัดเหวี่ยงอันเลื่องลือ สมยานามว่า "หมัดเหวี่ยงควาย"
...ปี พ.ศ.2430 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น ให้มวยไทยเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรของโรงเรียนครูฝึกหัดพลคึกษา และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
ในสมัยนี้เป็นที่ยอมรับว่า คือ ยุคทองของมวยไทย





สมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2453 - 2468)
...ในระหว่างปี พ.ศ.2457 - 2461 ประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ณ เมืองมาเซย์ ประเทศฝรั่งเศส โดยมีพลโทพระยาเทพหัสดินเป็นแม่ทัพคุมทหารไทยไปร่วมรบในครั้งนี้ ท่านเป็นผู้สนใจมาก ได้จัดมวยไทย ชกมวยไทยโชว์ให้ทหารและประชาชนชาวยุโรปชม สร้างความชื่นชอบและประทับใจอย่างยิ่ง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มวยไทยเริ่มเผยแพร่ในยุโรป
....ปี พ.ศ.2464 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ...สนามมวยสวนกุหลาบเป็นสนามมวยถาวรแห่งแรกที่จัดการแข่งขันเป็นประจำ บนสนามฟุตบอลภายในโรงเรียนสวนกุหลาบ ระยะเริ่มแรก ผู้ชมจะนั่งและยืนรอบสังเวียนซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 26 เมตร ขีดเส้นกั้นบริเวณห้ามผู้ชมล้ำเขตสังเวียน นักมวยคาดเชือกที่มือด้วยด้ายดิบ สวมมงคล ผูกประเจียดไว้ที่ต้นแขน สวมกางเกงขาสั้น สวมกระจับบุนวมป้องกันอวัยวะที่สำคัญ และใช้ผ้าคาดทับรอบเอวอย่างแน่นหนาอีกครั้ง ไม่สวมเสื้อและรองเท้า กรรมการผู้ชี้ขาดแต่งกายด้วยชุดผ้าม่วงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อราชประแตนและสวมถุงเท้าขาว
....มวยคู่ผู้ที่สนใจมาก คือ หมื่นมวยแม่นหมัด นกมวยฝีมือดีในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งอายุได้ 50 ปี ชกกับนายผ่อง ปราบสบถ นักมวยหนุ่มฝีมือดี รูปร่างสูงใหญ่ อายุ 22 ปี จากโคราช การชกครั้งนี้เพื่อแก้แค้นแทนบิดาที่แพ้หมื่นมวยแม่นหมัด เมื่อครั้งชกกันหน้าพระที่นั่งงานพระเมรุขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ การแข่งขันใช้เวลา 2 นาที หมื่นมวยแม่นหมัดถูกหมัดเหวี่ยงควายของนายผ่อง ล้มนอนหมดสติกับพื้นสนาม ผู้ชมต่างตื่นเต้นกับชัยนะของนายผ่อง วิ่งเข้าห้อมล้อมเพื่อแสดงความยินดี ทำให้เกิดความวุ่นวาย เจ้าที่และลูกเสือต้องทำงานหนัก จากเหตุการณ์ครั้งนี้คณะกรรมการจัดมวยจึงจัดประชุมเพื่อหาทางแก้ไข ในที่สุดตกลงสร้างเวทีมวยขึ้นใหม่ในวันรุ่งขึ้น โดยยกพื้นเวทีสูง 4 ฟุต ปูพื้นด้วยเสื่อจันทบูรณ์หลายผืนเย็บติดกัน มีเชือกกั้นเวทีขนาด 1 นิ้ว มีช่องตรงมุมบันไดสำนักมวยและผู้ตัดสินขึ้นลง ผู้ตัดสินแต่งเครื่องแบบเสือป่าเต็มยศ มีเจ้าหน้าที่รักษาเวลาโดยใช้นาฬิกาจับเวลา 2 เรือน ใช้เสียงกลองเป็นสัญญาณการชกแข่งขันกัน 11 ยกๆ ละ 3 นาที ต้องแยกจากกันเมื่อผู้ตัดสินสั่งแยก ห้ามกัด ห้ามซ้ำ ใช้ลูกติดพันได้ ถ้าคู่ต่อสู้ล้มให้ไปยืนรอที่มุมกลาง มีวงมโหรีปี่กลองของหมื่นสมัคร เสียงประจิตร บรรเลงให้จังหวะขณะแข่งขัน
....ประชาชนสนใจเข้าชมการแข่งขันกันมากและเรียกร้องให้จัดต่อไปอีก รัชกาลที่ 6 จึงทรงโปรดเกล้าให้พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี แม่กองเสือป่า จัดแข่งขันชกมวยเพื่อหาทุนซื้อปืนให้กองเสือป่า โดยให้สมุเทศาภิบาลและข้าหลวงหัวเมืองต่างๆ จัดนักมวยฝีมือดีมาชกกัน นักมวยส่วนใหญ่จากต่างจังหวัดจะพักที่ห้องสโมสรเสือป่า บริเวณสวนดุสิตเมื่อนักมวยเปรียบคู่ได้แล้ว นักข่าวจะถ่ายภาพทำโฆษณา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการโฆษณา การแข่งขันมวยไทย
...มวยคู่ประวัติศาสตร์ที่สามารถทำเงินได้มากที่สุดในยุคนั้น คือ นายยัง หาญทะเล กับ จี๊ฉ่าง (โฮ้ว จงกุ๋น) นักมวยจีน ผลการแข่งขันจี๊ฉ่างถูกชกที่ใบหน้าแล้วเตะตามที่ก้านคอล้มลงนอนนิ่ง ผู้ตัดสินนับ 10 ก็ไม่สามารถลุกข้ามาต่อสู้ได้
• สมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2468 - 2477)
      ระหว่างปี พ.ศ.2466 - 2472 พลโทพระยาเทพหัสดินได้สร้าง สนามมวยหลักเมืองท่าช้าง ขึ้น บริเวณโรงละครแห่งชาติปัจจุบัน เวทีมีเชือกกั้นเส้นใหญ่ขึ้น เชือกแต่ละเส้นขึงตึงเป็นเส้นเดียวไม่เปิดช่องตรงมุมสำหรับขึ้นลงเหมือนกับยุคเก่า เพื่อป้องกันนักมวยตกเวทีตรงช่องนี้และจัดการแข่งขันเป็นประจำทุกปี
      ปี พ.ศ.2472 รัฐบาลมีคำสั่งให้การแข่งขันชกมวยไทยทั่วประเทศสวมนวมชกได้ ตังอย่างการสวมนวมจากนักมวยฟิลิปปินส์ที่เข้ามาชกมวยสากลในประเทศไทย ทั้งนี้สาเหตุเนื่องจาก นายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยฝีมือดีจากบ้านท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ต่อย นายเจีย แขกเขมร ตายด้วยหมัดคาดเชือก
...ในวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2472 เจ้าคุณคธาธรบดี ได้เริ่มจัดการแข่งขันชกมวยไทยขึ้นที่สวนสนุกภายในบริเวณสวนลุมพินีร่วมกับมหรศพอื่นๆ โดยคัดเอานักมวยฝีมือดีชกกันทุกวันเสาร์เนื่องจากเจ้าคุณเป็นคนทันสมัยจึงเวทีมวยแบบมาตรฐานสากล คือ มีเชือก 3 เส้น ใช้ผ้าใบปูพื้น มีมุมแดง น้ำเงิน มีผู้ตัดสินให้คะแนน 2 คน มีผู้ชี้ขาดการแข่งขันบนเวที 1 คน ให้สัญญาณด้วยระฆังเป็นครั้งแรก และในวันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2472 ในรายการต้อนรับวันปีใหม่ คู่เอกระหว่างสมาน ดิลกวิลาศ กับ เดช ภู่ภิญโญ มวยประกอบรายการได้แก่ นายแอ ม่วงดี กับสุวรรณ นิวาสะวัตร ซึ่งนายแอ ม่วงดี ได้นำเอากระจับเหล็กมาใช้ป้องกันอวัยวะสำคัญทำให้นักมวยคนอื่นๆ หันมาใช้กระจับเหล็กตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ข้อมูลเพิ่มเติมหรืออ่านเพิ่มได้ที่>>>http://student.nu.ac.th/muaythaiboran/prawatmuay05.htm




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หน้าเว็บ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

Followers